การจัดงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565

การจัดงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ธ.ค. 2565

| 1,060 view
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565 ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของนอร์เวย์เข้าร่วม ที่สำคัญ ได้แก่ นาง Tone Elisabeth Bækkevold Allers อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ นาย Vebjørn Dysvik อธิบดีกรมภูมิภาค (ดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-นอร์เวย์) กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ นาง Merete Fjeld Brattested อธิบดีกรมความร่วมมือพหุภาคี กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ (อดีตเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย) นาง Ragne Birte Lund อดีตเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย นาง Solveig Skauan อดีตกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงออสโล นาย Sveinung Fransplass Røren ผู้อำนวยการกรมนโยบายการค้า กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และประมงนอร์เวย์ ผู้แทนรัฐสภานอร์เวย์ ผู้แทนเทศบาลเมือง Porsgrunn นาย Håkon Glørstad ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์ด้านวัฒนธรรม นาย Egil Lothe เลขาธิการสหพันธ์พุทธศาสนาของนอร์เวย์ คณะทูตานุทูตในนอร์เวย์ ได้แก่ เอกอัครราชทูตเมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย แคนาดา ตุรกี โมร็อกโก เม็กซิโก อียิปต์ บราซิล และบัลแกเรีย รวมทั้ง ผู้แทนภาคเอกชน อาทิ นาย Svein J. Liknes ประธานบริหารบริษัท OKEA และผู้แทนชุมชนไทยจากสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมสตรีไทย สมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทย-นอร์เวย์ ศูนย์การเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เขตเอิสท์โฟลด์ กลุ่มนักศึกษาไทยในนอร์เวย์ และชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้ถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ กล่าวสุนทรพจน์สดุดีและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย และพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสานต่อพระราชปณิธานด้านการพัฒนา และประทานโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ที่สร้างสรรค์และมีความหมาย โดยมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสนอร์เวย์เมื่อปี 2450 ซึ่งปูรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ ในปัจจุบัน ได้พัฒนาไปสู่ความร่วมมือที่หลากหลายในสาขาที่มีศักยภาพ ได้แก่ โทรคมนาคม นวัตกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางทะล พลังงานสะอาด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแพทย์ ไปจนถึงการวิจัยขั้วโลกเหนือ ในปีนี้ ความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์มีพลวัตร โดยเฉพาะการประกาศเริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศ European Free Trade Association (EFTA) รวมทั้งการเยือนนอร์เวย์ของคณะผู้แทนหน่วยงานด้านพลังงานของไทยเพื่อศึกษาด้านนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage - CCS) ของนอร์เวย์ สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมจะเพิ่มพูนความร่วมมือกับนอร์เวย์ต่อไป เช่น นโยบาย Green Transition ของนอร์เวย์ กับ Bio-Circular Green (BCG) Economy ของไทย นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับประขาชนที่เป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนไทยในนอร์เวย์จำนวนกว่า 30,000 คน ที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ดังกล่าว
ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ เอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญชวนแขกผู้มีเกียรติร่วมยืนแสดงเคารพระหว่างการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาตินอร์เวย์ และร่วมดื่มถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์
ภายในงานได้มีการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การแสดงรำไทย การบรรเลงขิมในเพลงพระราชนิพนธ์ การสาธิตการแกะสลักผักผลไม้ การสาธิตการทำข้าวเกรียบปากหม้อ และเผยแพร่อาหารไทย และขนมไทยด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ